Breaking News

เปรียบเทียบ Toyota C-HR & Mazda CX-3 คู่ปรับที่สูสีกันที่สุด ณ เวลานี้

เปรียบเทียบ Toyota C-HR & Mazda CX-3 แม้ขุมพลังจะต่างกันสุดขั้ว แต่ด้วยประสิทธิภาพการขับขี่, อัตราสิ้นเปลือง และราคา ทั้งสองคันนี้จึงเป็นคู่ปรับที่สูสีกันที่สุด ณ เวลานี้… C-HR ผู้ท้าชิงหน้าใหม่ของปีนี้ จะแย่งมงกุฎไปจาก CX-3 รถ Crossover ที่เราเคยรักหมดใจได้หรือไม่? ทั้งคู่อยู่กับเราเพื่อหาคำตอบนั้น

เปรียบเทียบ Toyota-C-HR-Mazda CX-3-2.jpg
เปรียบเทียบ Toyota C-HR & Mazda CX-3
เปรียบเทียบ Toyota-C-HR-Mazda CX-3-3.jpg
เปรียบเทียบ Toyota C-HR & Mazda CX-3

เปรียบเทียบ Toyota C-HR & Mazda CX-3

นับเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากที่สุดอีกครั้งหนึ่งในชีวิตของผม เมื่อต้องมาอยู่ในสถานการณ์แบบนี้ จริงอยู่ที่ผมเองเป็นตัวตั้งตัวตีในการนำรถทั้งสองคันที่คุณเห็นอยู่ในภาพมาทดสอบเปรียบเทียบกัน และทราบดีว่า C-HR จะต้องเป็นรถที่ไม่ธรรมดาอย่างแน่นอน ในขณะที่ CX-3 คือรถที่ผมและนักขับทดสอบทุกคนใน Torque Magazine ต่างเคยลงความเห็นเอาไว้ตั้งแต่การนำมาทดสอบครั้งแรกว่าพวกเรา “หลงรัก” มันเข้าเต็มเปา บอกตามตรงว่า บางครั้งมันก็ยากที่จะยอมรับความจริง หาก C-HR จะเข้ามาแทนที่รถสุดรักจาก Mazda ของเราได้สำเร็จ

และผมก็สังหรณ์ใจว่าเหตุการณ์นั้นจะเกิดขึ้นจริง…

C-HR คือความหวังใหม่ของ Toyota เลยก็ว่าได้ มีแนวโน้มสูงที่มันจะเข้ามาแย่งส่วนแบ่งในกลุ่ม SUV ขนาด Supermini ได้สำเร็จ ด้วยรูปลักษณ์ที่ดูราวกับว่าพวกเขาส่ง Concept Car เข้าสู่สายพานการผลิตโดยไม่ได้ Edit ใด ๆ ซึ่งนั่นกลายเป็นจุดเด่นและฮือฮาไปทั่วโลกถึงความหวือหวาของมัน เส้นสายคมกริบและพื้นผิวที่สลับซับซ้อน ทว่าจัดวางได้อย่างลงตัวทั่วทั้งคัน ส่งให้ C-HR เฉิดฉายโดดเด่นบนท้องถนน ไฟเลี้ยวด้านหน้าแบบ Sequential, สัญลักษณ์ C-HR ที่ส่องลงบนพื้นถนนเมื่อเปิดประตู, กรอบหน้าต่างขนาดเล็กผนวกกับหลังคา ลาดต่ำสไตล์รถ Coupe เป็นสูตรสำเร็จล่าสุดที่ Toyota นำมาใช้กับรถของพวกเขา และมีทีท่าว่าจะไปได้ดีเสียด้วย

ในขณะที่ C-HR นำเสนอดีไซน์ที่ทำให้หัวใจเต้นระรัว รถจาก Mazda กลับนำจิตวิญญาณของคุณเข้าสู่ดินแดนอันเงียบสงบ CX-3 ดูเรียบง่ายกว่า, มีรสนิยม และเข้มแข็งหนักแน่น มันดูโค้งมนกลมกลืนกว่าอย่างเห็นได้ชัดเมื่อจอดอยู่ใกล้กัน การเติมสันคม ๆ เข้าไปตามส่วนต่าง ๆ ของรถช่วยให้ CX-3 เคร่งขรึมดุดันยิ่งขึ้น ไม่มีสัมผัสแบบคนขี้เล่นของ C-HR ให้รู้สึกที่นี่ ปรัชญา Kodo Design ให้ความรู้สึกแบบญี่ปุ่นขนานแท้ในทุกอณู สุขุม, พละกำลัง, คมคาย ทว่ามีระเบียบวินัย แม้คันของเราจะเป็นรุ่นปี 2017 (เราทดสอบและถ่ายทำก่อนที่ CX-3 รุ่นปี 2018 จะออกจำหน่ายหลายเดือน) แต่มันก็ยังคงดูดีและลงตัว กระจังหน้าขนาดใหญ่ไปกันได้ดีกับชุดไฟหน้ากะทัดรัดที่มี DRL ซึ่งออกแบบให้ดูเหมือนดวงตาที่จ้องเขม็งมาที่คุณ ในขณะที่ด้านท้ายและส่วนของหลังคาก็ดูลาดต่ำปราดเปรียว แม้จะไม่ชัดเจนเท่ากับ C-HR ก็ตาม

นั่นส่งให้การนั่งที่เบาะหลังใน CX-3 ให้ความรู้สึกโปร่งโล่งกว่า มันมีกระจกหน้าต่างของประตูหลังที่ใหญ่กว่า C-HR และ C-Pillar ก็อยู่ถัดจากพนักพิงออกไป ในขณะที่ C-HR มีขอบหน้าต่างสูงกว่าและ C-Pillar ขนาดมหึมาก็บดบังทัศนวิสัยไปเกือบหมด เมื่อบวกเข้ากับหลังคาที่ลาดต่ำลงมาและการตกแต่งด้วยโทนสีเข้ม ส่งให้เบาะหลังของ C-HR ไม่ใช่ที่ซึ่งคุณควรจะอยู่ด้วยเป็นเวลานาน ๆ เพราะมันทั้งอึดอัดและมืดมนอึมครึม เว้นแต่ว่าคุณจะชอบความเป็นส่วนตัวมากเป็นพิเศษ

แต่ที่สิ่งที่น่าประหลาดใจของหลังคาทรง Coupe ใน C-HR ก็คือ มันกลับมีปริมาตรความจุในพื้นที่เก็บสัมภาระท้ายรถมากกว่า CX-3 อยู่ 27 ลิตร (377 ลิตร เทียบกับ 350 ลิตรใน CX-3) ต้องขอบคุณความยาวฐานล้อที่มากกว่า CX-3 ราว 100 มม. พื้นที่ของเบาะนั่งคู่หน้ามีขนาดกว้างขวางใกล้เคียงกัน ตำแหน่งเบาะนั่งยอดเยี่ยมทั้งสองคัน และทัศนวิสัยขณะขับขี่ก็ทำได้ดีทั้งคู่

เช่นเดียวกับตัวถังรถ คุณจะได้เห็นความหวือหวาเหล่านั้นในห้องโดยสารของ C-HR เช่นกัน ผู้ออกแบบดึงเอาเส้นสายจากภายนอกเข้ามาใช้ได้อย่างชาญฉลาดและสร้างสรรค์ แดชบอร์ดแบบสองชั้นมีรูปทรงลื่นไหลต่อเนื่องไปยังแผงประตู บรรยากาศโดยรวมดูจะเอนเอียงไปทางสปอร์ตคาร์มากกว่า SUV ในขณะที่ อุปกรณ์อำนวยความสะดวกต่าง ๆ ก็ติดตั้งมาให้ครบครันและใช้งานได้อย่างสะดวกง่ายดาย ส่วนคุณภาพของวัสดุต่าง ๆ ก็ดูน่าพอใจกว่ารถอีกหลาย ๆ รุ่นของ Toyota ที่มีจำหน่ายอยู่ในไทย การตกแต่งด้วยโทนสีดำทำให้ห้องโดยสาร ช่วยลดทอนความฉวัดเฉวียนของดีไซน์ที่เต็มไปด้วยเหลี่ยมสันซับซ้อนได้เป็นอย่างดี

ห้องโดยสารของ CX-3 แตกต่างจาก C-HR ราวกับอยู่กันโลก… ในขณะที่ Toyota ให้ความรู้สึกเหมือนคุณกำลังนั่งอยู่ในรถแห่งอนาคต Mazda กลับนำเอาสไตล์แบบคลาสสิคของรถยุค ‘80s มาผสมผสาน ผมชอบช่องแอร์ทรงกลมดีไซน์ย้อนยุค และการตกแต่งด้วยหนังสีแดงเข้ม แต่สิ่งที่ถูกใจที่สุดก็คือ มาตรวัดรอบขนาดใหญ่ และ Paddle Shift หลังพวงมาลัย กับการตกแต่งเบาะนั่งและแผงประตูด้วยหนังกลับ ช่วยเพิ่มอารมณ์แบบรถสปอร์ตได้ดีทีเดียว

เปรียบเทียบ Toyota-C-HR-Mazda CX-3-ดีเซลเทอร์โบ-4.jpg
Mazda CX-3 ขุมพลังดีเซลเทอร์โบขนาด 1.5 ลิตร 105 แรงม้า

สมรรถนะการขับขี่ของ Mazda CX-3 ก็ให้อารมณ์สปอร์ตเช่นกัน ขุมพลังดีเซลเทอร์โบขนาด 1.5 ลิตร 105 แรงม้า อาจไม่กระฉับกระเฉงเท่ากับรุ่นเครื่องยนต์ 2.0 ลิตร เบนซิน แต่แรงบิดระดับ 270 นิวตันเมตร ก็ช่วยเสริมให้ CX-3 ทำอัตราเร่งได้อย่างน่าประทับใจ ชิฟต์เกียร์ลงต่ำ, เติมคันเร่งเข้าไป และ Crossover คันจิ๋วจะพุ่งไปข้างหน้าด้วยอัตราเร่งที่ไม่ธรรมดา มันตอบสนองได้ฉับไว โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการแซงที่ความเร็วต่ำเมื่อใช้งานในเมืองเหมือนที่เรากำลังขับอยู่ตอนนี้

ด้วยความยาวเพียง 4.2 เมตร CX-3 จึง ปราดเปรียวสำหรับการขับขี่บนการจราจรที่คับคั่งของกรุงเทพฯ ไม่ต่างจากพวกรถ Supermini ทั่วไป คุณสามารถควบคุมมันได้อย่างคล่องแคล่วผ่านระบบบังคับเลี้ยวที่กระชับ, เฉียบคม และให้น้ำหนักพอดีมือ นี่คือสิ่งที่ไม่มี Crossover ขนาดเล็กรุ่นใดสามารถเทียบเคียงได้ เมื่อผนวกเข้ากับอัตราเร่งที่มีชีวิตชีวาของเครื่องยนต์ ส่งให้ CX-3 ซอกแซกไปตามกระแสการจราจรได้อย่างลื่นไหล… โดยมีคู่ปรับหน้าใหม่ของมัน ตามอยู่ไม่ห่าง…

เปรียบเทียบ Toyota-C-HR-Mazda CX-3-เครื่องยนต์เบนซิน-5.jpg
Toyota C-HR เครื่องยนต์เบนซิน 1.8 ลิตร 98 แรงม้า

Toyota C-HR คือพาหนะสำหรับมหานครอย่างไม่ต้องสงสัย ยนตรกรรมพันธุ์ผสมจาก Toyota คันนี้ มาพร้อมกับเครื่องยนต์เบนซิน 1.8 ลิตร 98 แรงม้า, 142 นิวตันเมตร ทำงานร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้าขนาด 600 โวลท์ สร้างพลังได้ราว 70 แรงม้า และแรงบิด 163 นิวตันเมตร นี่คือเทคโนโลยี Hybrid รุ่นล่าสุดที่ Toyota พัฒนาขึ้นมา พวกเขาเคลมว่า มันสามารถทำงานได้อย่างฉับไวยิ่งขึ้น ทว่า ตัด-ต่อ การทำงานได้นุ่มนวลราบลื่นไม่ว่าคุณจะกดคันเร่งมากน้อยแค่ไหน นอกจากนั้น ระบบทั้งหมดยังมีขนาดเล็กลงและน้ำหนักเบากว่าเดิม แบตเตอรี่แบบใหม่ที่ถูกนำใช้ก็เก็บพลังงานได้มากขึ้น 28% เมื่อเทียบกับรุ่นเก่า ด้วยระยะเวลาการชาร์จที่เท่ากัน พูดให้ง่ายขึ้นก็คือ มันสามารถชาร์จไฟให้เต็มได้เร็วยิ่งขึ้นนั่นเอง

ด้วยความช่วยเหลือของมอเตอร์ไฟฟ้า C-HR จึงสามารถทำอัตราเร่งได้ดีไม่แพ้กัน จุดเด่นก็คือพละกำลังของมอเตอร์ไฟฟ้าที่แม้จะทำงานเพียงลำพัง แต่ก็สามารถฉุดน้ำหนักตัว 1.4 ตันของมันได้สบาย ๆ และหากทำงานพร้อมกับเครื่องยนต์ คุณก็จะได้สัมผัสกับอัตราเร่งที่น่าพอใจทีเดียว เกียร์อัตโนมัติ E-CVT ช่วยให้การขับเคลื่อนเป็นไปอย่างนุ่มนวลและเพียงพอสำหรับการเร่งแซงจากช่วงความเร็วต่ำ

คุณจะต้องชอบช่วงล่างแบบอิสระทั้งสี่ล้อของ C-HR อย่างแน่นอน มันสามารถดูดซับแรงสั่นสะเทือนได้ดี นุ่มนวลทว่าเกาะหนึบกับพื้นถนน นี่คือสิ่งที่ Toyota ใส่ใจเป็นพิเศษ พวกเขาทุ่มเทเวลามากมายไปกับการทดสอบและปรับจูนช่วงล่างของมันให้เหมาะสมกับสภาพถนนเมืองไทยโดยเฉพาะ เพื่อให้แน่ใจว่า C-HR จะเป็นรถที่ผู้ขับขี่ต้องประทับใจสูงสุดก่อนที่จะส่งมันเข้าสู่สายพานการผลิต

และความพยายามของพวกเขาก็ประสบความสำเร็จเสียด้วย การวิ่งบนถนนขรุขระ, ข้ามเนินลูกระนาด ไปจนถึงรอยต่อถนนบนทางด่วน รถคันนี้ทำได้อย่างนุ่มนวลไร้ที่ติในทุกย่านความเร็ว อาจมีอาการอันเดอร์สเตียร์ให้ได้รู้สึกบ้างในโค้งแคบ ๆ แต่ก็สามารถควบคุมได้อย่างง่ายดาย มันจะให้ความมั่นใจกับคุณในทุกเส้นทาง สิ่งที่ต้องทำมีเพียงแค่ควบคุมพวงมาลัยกับคันเร่งให้พอเหมาะ เรารับประกันว่าคุณจะสนุกกับการลัดเลาะไปตามเส้นทางคดเคี้ยวอย่างแน่นอน!

Mazda CX-3 เซ็ตช่วงล่างมาแบบฮาร์ดคอร์กว่า ถ้าคุณชอบรถที่มีบุคลิกแบบบู๊ล้างผลาญล่ะก็ คุณจะชี้นิ้วไปที่มันอย่างไม่ลังเล แน่นอนว่าการกระโดดลงจาก C-HR เข้ามาอยู่ใน CX-3 แบบทันทีทันใดเช่นนี้ เหมือนกับการพลิกฝ่ามือกลับด้าน บนถนนเส้นเดียวกัน คุณจะสัมผัสได้อย่างชัดเจนถึงความกระเด้งกระดอนของช่วงล่างที่มีมากกว่า อาจไม่ถึงกับเขย่าจนร่างกายรวมกันเป็นก้อนเดียว แต่แทนที่จะ “รูด” ผ่านทางขรุขระเหมือนที่ทำกับ C-HR คุณเลือกที่จะถอนคันเร่งหรือเบรกเพื่อลดความเร็ว และค่อย ๆ ไปอย่างทะนุถนอมเสียมากกว่า

เดี๋ยวก่อน! อย่าเพิ่งเบือนหน้าหนี CX-3 ตั้งแต่เนิ่น ๆ เพราะคุณจะพลาดทีเด็ดไปอย่างน่าเสียดาย… เรามาเริ่มจากการเข้าโหมด Manual, ยื่นปลายนิ้วเตรียมไว้ที่ Paddle ทั้งสองหลังพวงมาลัย แล้วไปกันเลย! ทั้งในด้านทฤษฎีและปฏิบัติ ช่วงล่างด้านหลังแบบคานของ CX-3 เสียเปรียบในเรื่องประสิทธิภาพการยึดเกาะและความนุ่มนวลอย่างไม่ต้องสงสัย ทว่าในด้านความรู้สึกแล้ว การเซ็ตช่วงล่างที่ขึงตึงกว่า ให้สัมผัสที่ทำให้คุณเชื่อมั่นได้มากกว่าเช่นกัน เมื่อรวมกับแรงบิดสูงสุดที่รอบต่ำเพียง 1,600 รอบ/นาที (มากกว่า 1 เท่าตัว เมื่อเทียบกับ 3,600 รอบ/นาที ของ C-HR) และชุดเกียร์ที่สามารถชิฟต์ขึ้นลงได้ด้วยตัวคุณเอง CX-3 เหมือนจะยั่วยุคุณให้ร่วมสนุกไปกับมันอยู่ตลอดเวลา เป็นการยากที่จะห้ามใจไม่ให้เร่ง, เร่ง และเร่ง ไปข้างหน้า เบรกตรงนี้, เริ่มหักเลี้ยว และ Mazda ตัวน้อยจะแล่นฉิวผ่านโค้งได้อย่างน่าทึ่ง มันอันเดอร์สเตียร์มากกว่า, ท้ายรถเบากว่า แต่คุณจะยังคงเชื่อมั่นในตัวมันได้อย่างเต็มเปี่ยม ความเฉียบคมของพวงมาลัยและล้อขอบ 18 นิ้ว กับยางแก้มเตี้ย เป็นกุญแจสำคัญที่ส่งให้ CX-3 บังคับควบคุมได้อย่างแม่นยำและมั่นใจ

ไม่เพียงแค่สมรรถนะ, ขนาดตัวถัง และช่วงล่าง ที่สูสีจนกินกันไม่ลง แต่ยังรวมถึงอัตราการบริโภคน้ำมัน ที่เป็นอีกหนึ่งตัวแปรสำคัญซึ่งทำให้เราไม่แน่ใจว่าจะยกมือให้ฝ่ายใดเป็นผู้มีชัยในการทดสอบครั้งนี้…

น้ำหนักที่เบากว่า C-HR ถึง 200 กก. ส่งให้เครื่องยนต์ดีเซลใน CX-3 ทำอัตราสิ้นเปลืองได้ใกล้เคียงกับขุมพลังพันธุ์ผสม ตลอด 5 วัน ที่เราอยู่กับพวกมัน จากการจราจรคืบคลานในเมืองจนถึงกระหน่ำคันเร่งบนไฮเวย์ CX-3 ทำได้ราว ๆ 17-18 กม./ลิตร ขณะที่ C-HR อยู่ที่ประมาณ 18-19 กม./ลิตร นั่นหมายถึง ระยะทางต่อปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงที่ใช้อาจไม่ต่างกันมากนัก แต่ C-HR จะได้เปรียบกว่าเล็กน้อยเมื่อถึงเวลาที่ต้องแวะปั๊ม จากราคาน้ำมัน E20 ซึ่งป้วนเปี้ยนอยู่ราว 27 บาท ส่วน CX-3 ต้องจ่ายแพงกว่าประมาณ 2 บาท/ลิตร ดังนั้น หากราคาน้ำมันเป็นอะไรที่มีผลกระทบต่อคุณล่ะก็ C-HR คงเป็นคำตอบที่ถูกต้องที่สุด

แล้วถ้าไม่เกี่ยงเรื่องน้ำมันล่ะ?

โดยรวมแล้ว พวกมันคือรถ Crossover ที่ยอดเยี่ยมทั้งคู่… C-HR โดดเด่นในเรื่องของดีไซน์สุดล้ำ ทั้งตัวถังและห้องโดยสาร หากเกือบทั้งหมดของคุณอยู่ในเมืองเป็นหลัก นี่คือรถที่พอดีกับคุณ มอเตอร์ไฟฟ้าของมันสามารถใช้งานได้เป็นเวลานานต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง นั่นหมายถึงการลดมลพิษที่เกิดขึ้นอย่างสูญเปล่าจากการจอดนิ่งอยู่กับที่ได้มากกว่า ความนุ่มนวลของช่วงล่างบวกกับเกียร์แบบ CVT  คือข้อได้เปรียบที่ชัดเจนเมื่อต้องขับขี่ในเมือง

แต่ถ้าคุณโฟกัสไปที่ความสนุกในการขับขี่ หรือใช้งานนอกเมืองบ่อย ๆ Crossover จาก Mazda คือตัวเลือกที่น่าสนใจ หากจินตนาการว่าบนโลกนี้ไม่เคยมี C-HR มาก่อน… CX-3 ถือเป็นรถที่สามารถใช้งานในเมืองได้ดีเช่นกัน การใช้แพลตฟอร์มจาก Mazda2 หมายถึงมันเป็นรถแบบ Supermini ที่คล่องแคล่วกระฉับกระเฉง แต่การมุ่งเน้นไปที่ Handling ตัดคะแนนความสะดวกสบายของตัวมันเองออกไปอย่างน่าเสียดาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อ Toyota ส่ง C-HR ที่นุ่มนวลกว่าเข้ามาร่วมศึก Crossover อันร้อนระอุนี้

ทว่า CX-3 จะเฉิดฉายกว่าเมื่อมันเริ่มทำความเร็ว แม้จะสูสีกันในเรื่องการบังคับควบคุม แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า Crossover จาก Mazda ให้สัมผัสที่ดีกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับระบบบังคับเลี้ยวที่สื่อสารมาสู่มือคุณได้อย่างชัดเจน และสามารถเรียก Engine Brake มาใช้ได้จากการชิฟต์เกียร์ด้วย Paddle บนพวงมาลัย ในขณะที่เกียร์แบบ CVT ของ C-HR ทำให้เครื่องยนต์ร้องระงมคาอยู่ที่รอบสูงเพื่อรอให้ความเร็วเพิ่มขึ้น และพวงมาลัยของมันก็ตอบสนองคลุมเครือคล้ายกับคุณกำลังเล่นเกม PlayStation แม้จะมีช่วงล่างเกาะหนึบแต่ก็ไม่อาจ “บิลท์” อารมณ์คุณให้สนุกกับมันได้เท่ากับ CX-3

ที่น่าสนใจก็คือ ขณะนี้ Mazda ส่ง CX-3 เวอร์ชั่นปรับปรุงใหม่ของปี 2018 ลงสู่ตลาดแล้ว (คันทดสอบของเราเป็นปี 2017) มันได้รับการปรับปรุงหลายอย่าง เพิ่มอุปกรณ์อำนวยความสะดวก และที่สำคัญก็คือ การปรับช่วงล่างให้นุ่มนวลขึ้น ซึ่งแน่นอนว่า นี่คือความพยายามที่จะเข้าปะทะ C-HR อีกครั้งของ Mazda

เรายังไม่มีโอกาสได้ลองขับ CX-3 รุ่นปี 2018 แต่ก็คาดหวังว่ามันจะมีสมรรถนะพอจะเทียบเคียงกับ C-HR สำหรับการขับขี่ในเมืองได้ และหวังลึก ๆ ว่า การเปลี่ยนแปลงนี้จะไม่ทำลายความสนุกในการขับขี่อันเป็นเอกลักษณ์สำคัญของ CX-3 ไป เพราะถ้าเป็นเช่นนั้น หัวใจของเราคงแหลกสลายเช่นกัน…

Check Also

MG5 10th Anniversary Special Edition

รีวิว ลองขับ MG5 10th Anniversary Special Edition รุ่นพิเศษที่เสริมออปชัน แต่ยังคงความคุ้มค่าในเรื่องราคา

รีวิว ลองขับ MG5 10th Anniversary Special Edition เครื่องยนต์เบนซิน 4 สูบ 16 วาล์ว DOHC ขนาด 1.5 …