Breaking News

Bosch สยายปีก ขึ้นแท่นผู้นำ IoT แห่งยุค ในงานแสดงนวัตกรรม CES 2019

Bosch สยายปีก ขึ้นแท่นผู้นำ IoT แห่งยุค ผลักดันโซลูชั่นส์แห่งการเชื่อมต่อด้านเทคโนโลยีการขับเคลื่อน และที่อยู่อาศัยแห่งอนาคตในงาน CES 2019

Bosch สยายปีก ขึ้นแท่นผู้นำ IoT-shottle-mobile-office-2.jpg
เทคโนโลยี IoT

Bosch สยายปีก ขึ้นแท่นผู้นำ IoT แห่งยุค ในงานแสดงนวัตกรรม CES 2019

นครลาสเวกัส, สหรัฐอเมริกา : เทคโนโลยี IoT กำลังเปลี่ยนแปลงโลกมากขึ้นทุกขณะ ดังที่ปรากฏให้เห็นได้ชัดเจนที่งานแสดงนวัตกรรมและสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ปี 2019 (2019 Consumer Electronics Show: CES) ซึ่งจัดขึ้นที่นครลาสเวกัส

โดยบ๊อชได้จัดแสดงเทคโนโลยีต่าง ๆ ของบริษัทฯ ที่นำมาใช้ได้จริงในปัจจุบัน เริ่มตั้งแต่แนวคิดการออกแบบยานพาหนะขนส่งสาธารณะที่ทำให้เทคโนโลยีการขับเคลื่อนเกิดขึ้นได้จริง ไปจนถึงตู้เย็นที่มีระบบเชื่อมต่ออัจฉริยะที่สามารถให้คำแนะนำเกี่ยวกับการจัดเก็บ และสำรองอาหารในตู้เย็นได้ และแม้กระทั่งเครื่องตัดหญ้าอัจฉริยะที่สามารถเรียนรู้และพัฒนาการทำงานจากการใช้งานจริงได้ แสดงให้เห็นถึงความตระการตาของโซลูชั่นส์จากบ๊อช ซึ่งถูกนำมาจัดแสดงที่งานแสดงสินค้าอิเลคทรอนิกส์สำหรับผู้บริโภคที่ใหญ่ที่สุดในโลกครั้งนี้

“บ๊อชมองเห็นโอกาส และความเป็นไปได้ของเทคโนโลยี IoT มาตั้งแต่ช่วงเริ่มต้น เราจึงได้วางแนวทางการพัฒนาโลกแห่งการเชื่อมต่ออย่างจริงจังมาเกือบหนึ่งทศวรรษแล้ว” ดร. มาร์คัส เฮย์น หนึ่งในคณะกรรมการบริหารของบ๊อช กล่าว “ปัจจุบัน เราเป็นบริษัทชั้นนำในด้าน IoT โดยเราเสริมสร้างความเชี่ยวชาญด้านซอฟต์แวร์และ IoT มาอย่างเป็นขั้นเป็นตอน”

การที่บ๊อชมีระบบคลาวด์ IoT เป็นของตัวเอง ช่วยให้บริษัทฯ สามารถพัฒนาโครงการต่างๆ มากกว่า 270 โครงการ ที่ครอบคลุมทั้งด้านเทคโนโลยีการขับเคลื่อน สมาร์ทโฮม สมาร์ทซิตี้ และเกษตรกรรม ซึ่งสอดคล้องกับจำนวนของเซ็นเซอร์ และอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่สามารถเชื่อมต่อกับ ระบบ Bosch IoT Suite ที่เพิ่มขึ้นราวร้อยละ 40 มาตั้งแต่ปีที่ผ่านมา โดยถึงตอนนี้มีจำนวนเซ็นเซอร์ที่บ๊อชผลิตรวมราว 8.5 ล้านชิ้น

หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ช่วยสร้างการเติบโตและโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ ด้าน IoT คือ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ AI ซึ่งบ๊อชส่งเสริมการพัฒนาด้านนี้อย่างจริงจัง “เราจะปลดล็อกศักยภาพของเทคโนโลยี IoT ได้อย่างเต็มที่ก็ต่อเมื่อได้เชื่อมโยงมันเข้ากับเทคโนโลยีเอไอ จึงต้องมีการพัฒนาโครงการด้าน IoT และเอไอควบคู่กันไป” มร. เฮย์น กล่าว ซึ่งเขามีความเห็นว่าเทคโนโลยีทั้งสองนี้ต่างเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน

“เทคโนโลยี IoT ต้องการเชาวน์ปัญญา การใช้อุปกรณ์ที่เชื่อมต่อกันได้ในการรวบรวมข้อมูล จะเป็นแรงผลักดันสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีเอไอ ในขณะเดียวกัน เทคโนโลยีเอไอเท่านั้นที่สามารถทำให้อุปกรณ์ที่เชื่อมต่อกันได้มีเชาวน์ปัญญา จนสามารถเรียนรู้ที่จะคิดวิเคราะห์หาข้อสรุปและประมวลผลต่าง ๆ ได้ด้วยตัวเอง เหนือสิ่งอื่นใด เรามุ่งมั่นที่จะเสริมสร้างชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในแต่ละวันให้ดียิ่งขึ้น มีเวลามากขึ้น มีความปลอดภัยมากขึ้น รวมทั้งมีประสิทธิภาพและความสะดวกสบายยิ่งขึ้น”

นอกจากนี้ มร. เฮย์น ยังยกตัวอย่างเครื่องตรวจจับควันระบบวิดีโอ โดยใช้ระบบวิเคราะห์ภาพแบบอัจฉริยะ และกล้องรักษาความปลอดภัยชนิดต่าง ๆ ที่ช่วยให้สามารถตรวจจับกองไฟภายในเวลาไม่กี่วินาที ซึ่งไวกว่าที่ตัวเซ็นเซอร์ของระบบจะสามารถตรวจจับความร้อน และควันไฟได้เสียอีก ระบบนี้ทำให้พบกองไฟได้อย่างรวดเร็วกว่าระบบเดิมมาก จึงช่วยเพิ่มเวลาที่จะปกป้อง และรักษาชีวิตของผู้คน

ปัจจัยที่สองในการกรุยทางความสำเร็จสู่ยุค IoT คือการเป็นพันธมิตร โดยบ๊อชร่วมงานกับทั้งผู้เล่นหน้าเดิมและหน้าใหม่ เมื่อเร็ว ๆ นี้ บ๊อชได้ร่วมมือกับผู้ให้บริการด้านแพลตฟอร์มสัญชาติแคนาดาชื่อ Mojio เพื่อพัฒนาแพลตฟอร์ม IoT แบบบูรณาการเพื่อใช้กับยานยนต์ที่เชื่อมต่อกันได้ขึ้นเป็นครั้งแรกของโลก

ยกตัวอย่างเช่น ในกรณีเกิดอุบัติเหตุ ระบบอัลกอริทึมของบ๊อชจะระบุได้ว่าเกิดอุบัติเหตุขึ้นที่ไหน เมื่อใด และรุนแรงเพียงใด ข้อมูลจะส่งผ่านบนระบบคลาวด์ของ Mojio ไปยังศูนย์บริการเหตุฉุกเฉินของบ๊อชอย่างรวดเร็ว พร้อมกับการโทรขอความช่วยเหลือฉุกเฉินไปยังศูนย์ให้ความช่วยเหลือของท้องถิ่นโดยอัตโนมัติ และในขณะเดียวกัน ข้อความก็จะถูกส่งไปยังผู้รับที่มีการกำหนดตั้งค่าไว้ล่วงหน้า ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของข้อความ หรือบนแอปฯ ของ Mojio

“การร่วมมือกับ Mojio ทำให้เราสามารถเชื่อมต่อยานยนต์ได้โดยตรงกับระบบคลาวด์ ซึ่งช่วยให้ความช่วยเหลือต่างๆ ไปถึงจุดเกิดเหตุได้รวดเร็วกว่าเดิมมาก” มร. ไมค์ แมนซูเอตโต้ ประธานบริษัทบ๊อชในอเมริกาเหนือ กล่าวที่งาน CES ทั้งนี้ นับตั้งแต่กลางปีหน้า ผู้ขับยานยนต์ราว 1 ล้านรายในอเมริกาเหนือและยุโรป จะมีโอกาสได้ใช้โซลูชั่นเทคโนโลยี IoT สำหรับระบบฉุกเฉินแล้ว

เทคโนโลยี IoT รุดหน้า : บ๊อชสร้างสรรค์เทคโนโลยีการขับเคลื่อนที่เชื่อมต่อกันแห่งอนาคต

บ๊อช ได้พัฒนายานยนต์ขนส่งสาธารณะต้นแบบ และเปิดตัวครั้งแรกในโลกที่งาน CES โดยยานยนต์รุ่นนี้ผสานด้วยโซลูชั่นส์ต่าง ๆ ทั้งด้านระบบอัตโนมัติ เทคโนโลยีแห่งการเชื่อมต่อ และเทคโนโลยีขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ ซึ่งผู้เข้าชมงานจะมีโอกาสได้สัมผัสกับยานยนต์ขนส่งไร้คนขับเป็นครั้งแรก โดยคาดว่าจะพร้อมโลดแล่นในเมืองต่าง ๆ ทั่วโลกเร็ว ๆ นี้ มร. เฮย์น กล่าวว่า “นับเป็นการสะท้อนวิสัยทัศน์ด้านเทคโนโลยีการขับเคลื่อนของเรา ทั้งการปราศจากการปล่อยก๊าซพิษ การปลอดอุบัติเหตุ และความไร้กังวลที่เป็นไปได้จริง ๆ ”

นอกจากบ๊อชจะเป็นผู้สร้างสรรค์อุปกรณ์ส่วนประกอบและระบบต่าง ๆ ของเทคโนโลยีการขับเคลื่อนสำหรับการขนส่งสาธารณะแล้ว บริษัทฯ ยังให้บริการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีการขับเคลื่อน อาทิ การจอง การแชร์รถ และแพลตฟอร์มด้านระบบเชื่อมต่อต่างๆ รวมทั้งที่จอด และการบริการเติมแบตเตอรี่อีกด้วย ซึ่งบ๊อชเชื่อว่าการบริการระบบเชื่อมต่อเหล่านี้ มีความสำคัญต่อเทคโนโลยีการขับเคลื่อนสำหรับอนาคตอย่างมาก

นอกจากนี้ ยังมีการคาดการณ์ปริมาณการซื้อขายในตลาดเกี่ยวกับบริการเหล่านี้อยู่ในระดับที่สูง โดยจากที่มีมูลค่า 4.7 หมื่นล้านยูโรในปี 2560 คาดว่าตัวเลขจะเพิ่มเป็น 14 หมื่นล้านยูโรภายในปี 2565 (ที่มา: ไพรซ์วอเทอร์เฮาส์คูเปอส์ – PwC) และที่สำคัญ บ๊อชตั้งเป้าส่วนแบ่งในตลาดนี้ โดยมีเป้าหมายการเติบโตของกลุ่มโซลูชั่นส์เหล่านี้ในอัตราเลขสองหลัก มร. เฮย์น กล่าวด้วยความมั่นใจว่า “ในอนาคต ยานยนต์บนถนนทุกคันจะต้องใช้เทคโนโลยีดิจิทัลของบ๊อช โดยเราจะรวบรวมเทคโนโลยีต่าง ๆ ไว้ด้วยกัน ภายใต้ระบบนิเวศของการเชื่อมต่อที่ทั้งชาญฉลาด และไร้รอยต่อ”

หนึ่งในอุปสรรคขั้นสุดท้ายในการนำเทคโนโลยีการขับเคลื่อนด้านการขนส่งด้วยรถสาธารณะมาสู่การใช้งานจริงคือ ระบบอัตโนมัติของยานยนต์ที่จะต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมของเมืองที่ยุ่งเหยิง เพราะฉะนั้น บ๊อชจึงเชื่อว่าการหาพันธมิตรคือคำตอบที่ดีที่สุด โดยในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ เมืองซาน โฮเซ่ ซึ่งอยู่ในพื้นที่ซิลิคอน แวลลี่ย์ของแคลิฟอร์เนีย จะเป็นเมืองต้นแบบสำหรับการทดลองการบริการใช้รถร่วมกันโดยใช้ระบบอัตโนมัติและไร้คนขับโดยสมบูรณ์ ซึ่งบ๊อชร่วมพัฒนาขึ้นกับเดมเลอร์ (Daimler) โดยมีการลงนามความร่วมมือจากทั้ง 3 ฝ่ายเรียบร้อยแล้ว จากการผสานความร่วมมือในครั้งนี้

บ๊อช และเดมเลอร์ตั้งเป้าแก้ไขปัญหาการจราจรในเมืองให้คล่องตัวมากขึ้น และเพิ่มความปลอดภัยบนถนน อีกทั้งยังวางรากฐานโครงสร้างที่สำคัญสำหรับการจราจรในอนาคต โดยเป้าหมายของทั้งสองฝ่ายคือ การพัฒนาระบบขับขี่ให้เป็นการขับขี่แบบไร้คนขับด้วยระบบอัตโนมัติที่สมบูรณ์แบบ (ระบบขับขี่อัตโนมัติตามมาตรฐาน SAE Level 4/5) ที่พร้อมจะเข้าสู่กระบวนการผลิตภายในต้นทศวรรษหน้า

เทคโนโลยี IoT ในบ้าน : อุปกรณ์และเครื่องใช้ในบ้านที่เชื่อมต่อกัน ช่วยให้ชีวิตของเจ้าของบ้านสะดวกและง่ายดายขึ้นอย่างชัดเจน

ไม่เพียงแต่ผลิตภัณฑ์ และการบริการที่เชื่อมกันบนท้องถนนซึ่งทำให้ชีวิตผู้คนสะดวกสบายขึ้นเท่านั้นที่เป็นที่ต้องการ มร. เฮย์น กล่าวว่า “เรากำลังพัฒนาแนวคิดในเรื่องบ้านที่เชื่อมต่อกัน รวมถึงอุปกรณ์และเครื่องใช้ในบ้านที่สามารถคิดวิเคราะห์ได้เองโดยอัตโนมัติ และเข้าใจความต้องการของผู้ใช้งาน” ยกตัวอย่างเช่น ในงาน CES บริษัทฯ ได้แสดงฟังก์ชั่นใหม่ล่าสุดสำหรับตู้เย็นระบบ web-enabled ที่สามารถจดจำประเภทอาหาร และให้คำแนะนำในการจัดเก็บและสำรองอาหารในตู้เย็นได้

โดยกล้องที่ติดตั้งภายในตู้เย็นจะจดจำชนิดของผักและผลไม้ราว 60 ชนิดโดยอัตโนมัติ และแนะนำตำแหน่งการจัดเก็บที่ดีที่สุดผ่านทางแอปฯ จึงช่วยให้การเก็บอาหารเป็นไปอย่างถูกต้อง และเหมาะสม สามารถเก็บความสดไว้ได้นานขึ้น และลดการทิ้งของเสียให้น้อยลง

นอกจากนี้ บ๊อชยังได้คิดค้นโปรเจคเตอร์ PAI ที่สามารถฉายจอภาพอินเทอร์เฟซแบบเสมือนจริงบนเคาน์เตอร์ครัว เซ็นเซอร์สามมิติแบบบูรณาการจะจับการเคลื่อนไหวของมือ โดยผู้ใช้งานจะใช้มือสัมผัสที่จอภาพเพื่อออกคำสั่งทำงาน ผู้ใช้งานสามารถค้นหาสูตรทำอาหารทางออนไลน์ และแม้กระทั่งโทรศัพท์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ตในระหว่างทำอาหาร หรือ อบอาหารอยู่

โปรเจคเตอร์ PAI ถูกออกแบบมาสำหรับสภาพการใช้งานในครัวโดยเฉพาะ จึงมีความทนทาน ไม่ต้องระวังเรื่องการใช้งานเหมือนกับสมาร์ทโฟน หรือ แท็บเล็ต และแม้นิ้วมือจะเหนียวเหนอะหนะ ก็ยังคงสามารถสั่งการโปรเจคเตอร์นี้ได้อย่างสมบูรณ์แบบ ทั้งนี้ บริษัทฯ วางแผนเปิดตัว PAI ในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ที่ประเทศจีนเป็นที่แรก ก่อนนำออกสู่ตลาดในสหรัฐอเมริกาต่อไป

ไม่เพียงเท่านั้น บ๊อชยังเปิดตัว Indego S+ หุ่นยนต์ตัดหญ้า ซึ่งสามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ในงาน CES นี้ด้วย โดยนับเป็นหนึ่งในหุ่นยนต์ตัดหญ้ารุ่นแรก ๆ ที่ใช้ระบบควบคุมด้วยเสียงโดย Amazon Alexa และยังเป็นหุ่นยนต์ตัดหญ้าเพียงรุ่นเดียวที่สามารถเชื่อมต่อการพยากรณ์อากาศบนเว็บไซต์ เพื่อวิเคราะห์ว่าควรตัดหญ้าครั้งต่อไปเมื่อใด

นอกจากนี้ บ๊อชได้นำเทคโนโลยีเอไอมาพัฒนาหุ่นยนต์ให้สามารถจดจำสิ่งกีดขวางต่าง ๆ บนสนามหญ้า โดยการประเมินข้อมูลต่าง ๆ เช่น การทำงานของมอเตอร์ ความเร่ง ความเร็วของมอเตอร์ และทิศทาง มร. เฮย์น กล่าวว่า “เราใช้เทคโนโลยีเอไอมาช่วยให้การตัดหญ้าเป็นเรื่องที่ง่าย และสะดวกสบายมากขึ้น เป้าหมายคือการทำให้ Idego สามารถปรับการทำงานให้เหมาะสมกับสภาพของหญ้าในสวน เพื่อให้งานตัดหญ้าออกมาสมบูรณ์แบบ และสวยงามทุกครั้ง”

เทคโนโลยี IoT #LikeABosch: บ๊อชเปิดตัวแคมเปญ IoT ระดับโลก

ท้ายสุด บ๊อชใช้โอกาสนี้เปิดตัวแคมเปญใหม่ของบริษัทฯ ซึ่งเป็นแคมเปญภาพลักษณ์ IoT โดยหมัดเด็ดของแคมเปญ คือ การใช้คลิปวิดีโอเพลงแนวฮิปฮอปที่มีตัวเอกเป็นผู้ใช้งานที่เชี่ยวชาญด้าน IoT กล่าวได้ว่า บ๊อชกำลังก้าวเข้าสู่อาณาจักรใหม่ของธุรกิจด้วยการชูแคมเปญ “Like a Bosch” ที่สะท้อนแนวทาง และรูปแบบที่แตกต่างอย่างเห็นได้ชัดสำหรับการเดินทางครั้งใหม่ของบริษัทฯ ที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2429

ซึ่งชิ้นงานพีอาร์ครั้งนี้ ต่อยอดมาจากไวรัลคลิปวิดีโอและมีมยอดฮิตในธีม ‘like a boss’ ที่มีการแชร์กันอย่างแพร่หลายบนอินเทอร์เน็ต ด้วยยอดวิวหลายสิบล้านครั้ง โดยตัววิดีโอจะแสดงภาพผู้คนที่ทำอะไรแผลงๆ หรือผาดโผน เพื่อเอาตัวรอดจากสถานการณ์ที่คับขันได้อย่างมีชั้นเชิง

แคมเปญภาพลักษณ์ IoT ของบ๊อช จะใช้การเปลี่ยนตัวอักษรเพียงบางตัว เพื่อเพิ่มลูกเล่นดึงดูดความสนใจบนโลกอินเทอร์เน็ต โดยตัวเอกเป็นผู้ชายที่สามารถควบคุม และจัดการทุกอย่างได้อย่างง่ายดาย ด้วยการใช้โซลูชั่นส์ที่เชื่อมต่อกันของบ๊อช ซึ่งเพียงแค่ใช้สมาร์ทโฟน เขาก็สามารถสั่งการรถยนต์ เครื่องตัดหญ้า และแม้กระทั่งเครื่องทำกาแฟได้อย่างเท่ สมาร์ท และคล่องแคล่วมั่นใจ เรียกได้ว่า เขาสามารถจัดการทุกเรื่องได้อยู่หมัดในแบบ ‘like a Bosch’ เลยทีเดียว

ข้อมูลเพิ่มเติม

Check Also

MMTh Motor Expo 2024

มิตซูบิชิ ชวนลูกค้าร่วมสัมผัสประสบการณ์ MITSUBISHI e:MOTION พร้อมขนทัพสุดยอดยนตรกรรมและข้อเสนอพิเศษกับแคมเปญ ‘MEGA DEAL’ รับข้อเสนอมูลค่ารวมสูงสุด 160,000 บาท ณ งานมหกรรมยานยนต์ ครั้งที่ 41

บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ชวนลูกค้าร่วมสัมผัสประสบการณ์ MITSUBISHI e:MOTION พร้อมขนทัพสุดยอดยนตรกรรมล้ำสมัย นำโดย มิตซูบิชิ เอ็กซ์แพนเดอร์ เอชอีวี และ มิตซูบิชิ …