Breaking News

เปรียบเทียบ Toyota C-HR & Mazda CX-3 คู่ปรับที่สูสีกันที่สุด ณ เวลานี้

เปรียบเทียบ Toyota C-HR & Mazda CX-3 แม้ขุมพลังจะต่างกันสุดขั้ว แต่ด้วยประสิทธิภาพการขับขี่, อัตราสิ้นเปลือง และราคา ทั้งสองคันนี้จึงเป็นคู่ปรับที่สูสีกันที่สุด ณ เวลานี้… C-HR ผู้ท้าชิงหน้าใหม่ของปีนี้ จะแย่งมงกุฎไปจาก CX-3 รถ Crossover ที่เราเคยรักหมดใจได้หรือไม่? ทั้งคู่อยู่กับเราเพื่อหาคำตอบนั้น

เปรียบเทียบ Toyota-C-HR-Mazda CX-3-2.jpg
เปรียบเทียบ Toyota C-HR & Mazda CX-3
เปรียบเทียบ Toyota-C-HR-Mazda CX-3-3.jpg
เปรียบเทียบ Toyota C-HR & Mazda CX-3

เปรียบเทียบ Toyota C-HR & Mazda CX-3

นับเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากที่สุดอีกครั้งหนึ่งในชีวิตของผม เมื่อต้องมาอยู่ในสถานการณ์แบบนี้ จริงอยู่ที่ผมเองเป็นตัวตั้งตัวตีในการนำรถทั้งสองคันที่คุณเห็นอยู่ในภาพมาทดสอบเปรียบเทียบกัน และทราบดีว่า C-HR จะต้องเป็นรถที่ไม่ธรรมดาอย่างแน่นอน ในขณะที่ CX-3 คือรถที่ผมและนักขับทดสอบทุกคนใน Torque Magazine ต่างเคยลงความเห็นเอาไว้ตั้งแต่การนำมาทดสอบครั้งแรกว่าพวกเรา “หลงรัก” มันเข้าเต็มเปา บอกตามตรงว่า บางครั้งมันก็ยากที่จะยอมรับความจริง หาก C-HR จะเข้ามาแทนที่รถสุดรักจาก Mazda ของเราได้สำเร็จ

และผมก็สังหรณ์ใจว่าเหตุการณ์นั้นจะเกิดขึ้นจริง…

C-HR คือความหวังใหม่ของ Toyota เลยก็ว่าได้ มีแนวโน้มสูงที่มันจะเข้ามาแย่งส่วนแบ่งในกลุ่ม SUV ขนาด Supermini ได้สำเร็จ ด้วยรูปลักษณ์ที่ดูราวกับว่าพวกเขาส่ง Concept Car เข้าสู่สายพานการผลิตโดยไม่ได้ Edit ใด ๆ ซึ่งนั่นกลายเป็นจุดเด่นและฮือฮาไปทั่วโลกถึงความหวือหวาของมัน เส้นสายคมกริบและพื้นผิวที่สลับซับซ้อน ทว่าจัดวางได้อย่างลงตัวทั่วทั้งคัน ส่งให้ C-HR เฉิดฉายโดดเด่นบนท้องถนน ไฟเลี้ยวด้านหน้าแบบ Sequential, สัญลักษณ์ C-HR ที่ส่องลงบนพื้นถนนเมื่อเปิดประตู, กรอบหน้าต่างขนาดเล็กผนวกกับหลังคา ลาดต่ำสไตล์รถ Coupe เป็นสูตรสำเร็จล่าสุดที่ Toyota นำมาใช้กับรถของพวกเขา และมีทีท่าว่าจะไปได้ดีเสียด้วย

ในขณะที่ C-HR นำเสนอดีไซน์ที่ทำให้หัวใจเต้นระรัว รถจาก Mazda กลับนำจิตวิญญาณของคุณเข้าสู่ดินแดนอันเงียบสงบ CX-3 ดูเรียบง่ายกว่า, มีรสนิยม และเข้มแข็งหนักแน่น มันดูโค้งมนกลมกลืนกว่าอย่างเห็นได้ชัดเมื่อจอดอยู่ใกล้กัน การเติมสันคม ๆ เข้าไปตามส่วนต่าง ๆ ของรถช่วยให้ CX-3 เคร่งขรึมดุดันยิ่งขึ้น ไม่มีสัมผัสแบบคนขี้เล่นของ C-HR ให้รู้สึกที่นี่ ปรัชญา Kodo Design ให้ความรู้สึกแบบญี่ปุ่นขนานแท้ในทุกอณู สุขุม, พละกำลัง, คมคาย ทว่ามีระเบียบวินัย แม้คันของเราจะเป็นรุ่นปี 2017 (เราทดสอบและถ่ายทำก่อนที่ CX-3 รุ่นปี 2018 จะออกจำหน่ายหลายเดือน) แต่มันก็ยังคงดูดีและลงตัว กระจังหน้าขนาดใหญ่ไปกันได้ดีกับชุดไฟหน้ากะทัดรัดที่มี DRL ซึ่งออกแบบให้ดูเหมือนดวงตาที่จ้องเขม็งมาที่คุณ ในขณะที่ด้านท้ายและส่วนของหลังคาก็ดูลาดต่ำปราดเปรียว แม้จะไม่ชัดเจนเท่ากับ C-HR ก็ตาม

นั่นส่งให้การนั่งที่เบาะหลังใน CX-3 ให้ความรู้สึกโปร่งโล่งกว่า มันมีกระจกหน้าต่างของประตูหลังที่ใหญ่กว่า C-HR และ C-Pillar ก็อยู่ถัดจากพนักพิงออกไป ในขณะที่ C-HR มีขอบหน้าต่างสูงกว่าและ C-Pillar ขนาดมหึมาก็บดบังทัศนวิสัยไปเกือบหมด เมื่อบวกเข้ากับหลังคาที่ลาดต่ำลงมาและการตกแต่งด้วยโทนสีเข้ม ส่งให้เบาะหลังของ C-HR ไม่ใช่ที่ซึ่งคุณควรจะอยู่ด้วยเป็นเวลานาน ๆ เพราะมันทั้งอึดอัดและมืดมนอึมครึม เว้นแต่ว่าคุณจะชอบความเป็นส่วนตัวมากเป็นพิเศษ

แต่ที่สิ่งที่น่าประหลาดใจของหลังคาทรง Coupe ใน C-HR ก็คือ มันกลับมีปริมาตรความจุในพื้นที่เก็บสัมภาระท้ายรถมากกว่า CX-3 อยู่ 27 ลิตร (377 ลิตร เทียบกับ 350 ลิตรใน CX-3) ต้องขอบคุณความยาวฐานล้อที่มากกว่า CX-3 ราว 100 มม. พื้นที่ของเบาะนั่งคู่หน้ามีขนาดกว้างขวางใกล้เคียงกัน ตำแหน่งเบาะนั่งยอดเยี่ยมทั้งสองคัน และทัศนวิสัยขณะขับขี่ก็ทำได้ดีทั้งคู่

เช่นเดียวกับตัวถังรถ คุณจะได้เห็นความหวือหวาเหล่านั้นในห้องโดยสารของ C-HR เช่นกัน ผู้ออกแบบดึงเอาเส้นสายจากภายนอกเข้ามาใช้ได้อย่างชาญฉลาดและสร้างสรรค์ แดชบอร์ดแบบสองชั้นมีรูปทรงลื่นไหลต่อเนื่องไปยังแผงประตู บรรยากาศโดยรวมดูจะเอนเอียงไปทางสปอร์ตคาร์มากกว่า SUV ในขณะที่ อุปกรณ์อำนวยความสะดวกต่าง ๆ ก็ติดตั้งมาให้ครบครันและใช้งานได้อย่างสะดวกง่ายดาย ส่วนคุณภาพของวัสดุต่าง ๆ ก็ดูน่าพอใจกว่ารถอีกหลาย ๆ รุ่นของ Toyota ที่มีจำหน่ายอยู่ในไทย การตกแต่งด้วยโทนสีดำทำให้ห้องโดยสาร ช่วยลดทอนความฉวัดเฉวียนของดีไซน์ที่เต็มไปด้วยเหลี่ยมสันซับซ้อนได้เป็นอย่างดี

ห้องโดยสารของ CX-3 แตกต่างจาก C-HR ราวกับอยู่กันโลก… ในขณะที่ Toyota ให้ความรู้สึกเหมือนคุณกำลังนั่งอยู่ในรถแห่งอนาคต Mazda กลับนำเอาสไตล์แบบคลาสสิคของรถยุค ‘80s มาผสมผสาน ผมชอบช่องแอร์ทรงกลมดีไซน์ย้อนยุค และการตกแต่งด้วยหนังสีแดงเข้ม แต่สิ่งที่ถูกใจที่สุดก็คือ มาตรวัดรอบขนาดใหญ่ และ Paddle Shift หลังพวงมาลัย กับการตกแต่งเบาะนั่งและแผงประตูด้วยหนังกลับ ช่วยเพิ่มอารมณ์แบบรถสปอร์ตได้ดีทีเดียว

เปรียบเทียบ Toyota-C-HR-Mazda CX-3-ดีเซลเทอร์โบ-4.jpg
Mazda CX-3 ขุมพลังดีเซลเทอร์โบขนาด 1.5 ลิตร 105 แรงม้า

สมรรถนะการขับขี่ของ Mazda CX-3 ก็ให้อารมณ์สปอร์ตเช่นกัน ขุมพลังดีเซลเทอร์โบขนาด 1.5 ลิตร 105 แรงม้า อาจไม่กระฉับกระเฉงเท่ากับรุ่นเครื่องยนต์ 2.0 ลิตร เบนซิน แต่แรงบิดระดับ 270 นิวตันเมตร ก็ช่วยเสริมให้ CX-3 ทำอัตราเร่งได้อย่างน่าประทับใจ ชิฟต์เกียร์ลงต่ำ, เติมคันเร่งเข้าไป และ Crossover คันจิ๋วจะพุ่งไปข้างหน้าด้วยอัตราเร่งที่ไม่ธรรมดา มันตอบสนองได้ฉับไว โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการแซงที่ความเร็วต่ำเมื่อใช้งานในเมืองเหมือนที่เรากำลังขับอยู่ตอนนี้

ด้วยความยาวเพียง 4.2 เมตร CX-3 จึง ปราดเปรียวสำหรับการขับขี่บนการจราจรที่คับคั่งของกรุงเทพฯ ไม่ต่างจากพวกรถ Supermini ทั่วไป คุณสามารถควบคุมมันได้อย่างคล่องแคล่วผ่านระบบบังคับเลี้ยวที่กระชับ, เฉียบคม และให้น้ำหนักพอดีมือ นี่คือสิ่งที่ไม่มี Crossover ขนาดเล็กรุ่นใดสามารถเทียบเคียงได้ เมื่อผนวกเข้ากับอัตราเร่งที่มีชีวิตชีวาของเครื่องยนต์ ส่งให้ CX-3 ซอกแซกไปตามกระแสการจราจรได้อย่างลื่นไหล… โดยมีคู่ปรับหน้าใหม่ของมัน ตามอยู่ไม่ห่าง…

เปรียบเทียบ Toyota-C-HR-Mazda CX-3-เครื่องยนต์เบนซิน-5.jpg
Toyota C-HR เครื่องยนต์เบนซิน 1.8 ลิตร 98 แรงม้า

Toyota C-HR คือพาหนะสำหรับมหานครอย่างไม่ต้องสงสัย ยนตรกรรมพันธุ์ผสมจาก Toyota คันนี้ มาพร้อมกับเครื่องยนต์เบนซิน 1.8 ลิตร 98 แรงม้า, 142 นิวตันเมตร ทำงานร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้าขนาด 600 โวลท์ สร้างพลังได้ราว 70 แรงม้า และแรงบิด 163 นิวตันเมตร นี่คือเทคโนโลยี Hybrid รุ่นล่าสุดที่ Toyota พัฒนาขึ้นมา พวกเขาเคลมว่า มันสามารถทำงานได้อย่างฉับไวยิ่งขึ้น ทว่า ตัด-ต่อ การทำงานได้นุ่มนวลราบลื่นไม่ว่าคุณจะกดคันเร่งมากน้อยแค่ไหน นอกจากนั้น ระบบทั้งหมดยังมีขนาดเล็กลงและน้ำหนักเบากว่าเดิม แบตเตอรี่แบบใหม่ที่ถูกนำใช้ก็เก็บพลังงานได้มากขึ้น 28% เมื่อเทียบกับรุ่นเก่า ด้วยระยะเวลาการชาร์จที่เท่ากัน พูดให้ง่ายขึ้นก็คือ มันสามารถชาร์จไฟให้เต็มได้เร็วยิ่งขึ้นนั่นเอง

ด้วยความช่วยเหลือของมอเตอร์ไฟฟ้า C-HR จึงสามารถทำอัตราเร่งได้ดีไม่แพ้กัน จุดเด่นก็คือพละกำลังของมอเตอร์ไฟฟ้าที่แม้จะทำงานเพียงลำพัง แต่ก็สามารถฉุดน้ำหนักตัว 1.4 ตันของมันได้สบาย ๆ และหากทำงานพร้อมกับเครื่องยนต์ คุณก็จะได้สัมผัสกับอัตราเร่งที่น่าพอใจทีเดียว เกียร์อัตโนมัติ E-CVT ช่วยให้การขับเคลื่อนเป็นไปอย่างนุ่มนวลและเพียงพอสำหรับการเร่งแซงจากช่วงความเร็วต่ำ

คุณจะต้องชอบช่วงล่างแบบอิสระทั้งสี่ล้อของ C-HR อย่างแน่นอน มันสามารถดูดซับแรงสั่นสะเทือนได้ดี นุ่มนวลทว่าเกาะหนึบกับพื้นถนน นี่คือสิ่งที่ Toyota ใส่ใจเป็นพิเศษ พวกเขาทุ่มเทเวลามากมายไปกับการทดสอบและปรับจูนช่วงล่างของมันให้เหมาะสมกับสภาพถนนเมืองไทยโดยเฉพาะ เพื่อให้แน่ใจว่า C-HR จะเป็นรถที่ผู้ขับขี่ต้องประทับใจสูงสุดก่อนที่จะส่งมันเข้าสู่สายพานการผลิต

และความพยายามของพวกเขาก็ประสบความสำเร็จเสียด้วย การวิ่งบนถนนขรุขระ, ข้ามเนินลูกระนาด ไปจนถึงรอยต่อถนนบนทางด่วน รถคันนี้ทำได้อย่างนุ่มนวลไร้ที่ติในทุกย่านความเร็ว อาจมีอาการอันเดอร์สเตียร์ให้ได้รู้สึกบ้างในโค้งแคบ ๆ แต่ก็สามารถควบคุมได้อย่างง่ายดาย มันจะให้ความมั่นใจกับคุณในทุกเส้นทาง สิ่งที่ต้องทำมีเพียงแค่ควบคุมพวงมาลัยกับคันเร่งให้พอเหมาะ เรารับประกันว่าคุณจะสนุกกับการลัดเลาะไปตามเส้นทางคดเคี้ยวอย่างแน่นอน!

Mazda CX-3 เซ็ตช่วงล่างมาแบบฮาร์ดคอร์กว่า ถ้าคุณชอบรถที่มีบุคลิกแบบบู๊ล้างผลาญล่ะก็ คุณจะชี้นิ้วไปที่มันอย่างไม่ลังเล แน่นอนว่าการกระโดดลงจาก C-HR เข้ามาอยู่ใน CX-3 แบบทันทีทันใดเช่นนี้ เหมือนกับการพลิกฝ่ามือกลับด้าน บนถนนเส้นเดียวกัน คุณจะสัมผัสได้อย่างชัดเจนถึงความกระเด้งกระดอนของช่วงล่างที่มีมากกว่า อาจไม่ถึงกับเขย่าจนร่างกายรวมกันเป็นก้อนเดียว แต่แทนที่จะ “รูด” ผ่านทางขรุขระเหมือนที่ทำกับ C-HR คุณเลือกที่จะถอนคันเร่งหรือเบรกเพื่อลดความเร็ว และค่อย ๆ ไปอย่างทะนุถนอมเสียมากกว่า

เดี๋ยวก่อน! อย่าเพิ่งเบือนหน้าหนี CX-3 ตั้งแต่เนิ่น ๆ เพราะคุณจะพลาดทีเด็ดไปอย่างน่าเสียดาย… เรามาเริ่มจากการเข้าโหมด Manual, ยื่นปลายนิ้วเตรียมไว้ที่ Paddle ทั้งสองหลังพวงมาลัย แล้วไปกันเลย! ทั้งในด้านทฤษฎีและปฏิบัติ ช่วงล่างด้านหลังแบบคานของ CX-3 เสียเปรียบในเรื่องประสิทธิภาพการยึดเกาะและความนุ่มนวลอย่างไม่ต้องสงสัย ทว่าในด้านความรู้สึกแล้ว การเซ็ตช่วงล่างที่ขึงตึงกว่า ให้สัมผัสที่ทำให้คุณเชื่อมั่นได้มากกว่าเช่นกัน เมื่อรวมกับแรงบิดสูงสุดที่รอบต่ำเพียง 1,600 รอบ/นาที (มากกว่า 1 เท่าตัว เมื่อเทียบกับ 3,600 รอบ/นาที ของ C-HR) และชุดเกียร์ที่สามารถชิฟต์ขึ้นลงได้ด้วยตัวคุณเอง CX-3 เหมือนจะยั่วยุคุณให้ร่วมสนุกไปกับมันอยู่ตลอดเวลา เป็นการยากที่จะห้ามใจไม่ให้เร่ง, เร่ง และเร่ง ไปข้างหน้า เบรกตรงนี้, เริ่มหักเลี้ยว และ Mazda ตัวน้อยจะแล่นฉิวผ่านโค้งได้อย่างน่าทึ่ง มันอันเดอร์สเตียร์มากกว่า, ท้ายรถเบากว่า แต่คุณจะยังคงเชื่อมั่นในตัวมันได้อย่างเต็มเปี่ยม ความเฉียบคมของพวงมาลัยและล้อขอบ 18 นิ้ว กับยางแก้มเตี้ย เป็นกุญแจสำคัญที่ส่งให้ CX-3 บังคับควบคุมได้อย่างแม่นยำและมั่นใจ

ไม่เพียงแค่สมรรถนะ, ขนาดตัวถัง และช่วงล่าง ที่สูสีจนกินกันไม่ลง แต่ยังรวมถึงอัตราการบริโภคน้ำมัน ที่เป็นอีกหนึ่งตัวแปรสำคัญซึ่งทำให้เราไม่แน่ใจว่าจะยกมือให้ฝ่ายใดเป็นผู้มีชัยในการทดสอบครั้งนี้…

น้ำหนักที่เบากว่า C-HR ถึง 200 กก. ส่งให้เครื่องยนต์ดีเซลใน CX-3 ทำอัตราสิ้นเปลืองได้ใกล้เคียงกับขุมพลังพันธุ์ผสม ตลอด 5 วัน ที่เราอยู่กับพวกมัน จากการจราจรคืบคลานในเมืองจนถึงกระหน่ำคันเร่งบนไฮเวย์ CX-3 ทำได้ราว ๆ 17-18 กม./ลิตร ขณะที่ C-HR อยู่ที่ประมาณ 18-19 กม./ลิตร นั่นหมายถึง ระยะทางต่อปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงที่ใช้อาจไม่ต่างกันมากนัก แต่ C-HR จะได้เปรียบกว่าเล็กน้อยเมื่อถึงเวลาที่ต้องแวะปั๊ม จากราคาน้ำมัน E20 ซึ่งป้วนเปี้ยนอยู่ราว 27 บาท ส่วน CX-3 ต้องจ่ายแพงกว่าประมาณ 2 บาท/ลิตร ดังนั้น หากราคาน้ำมันเป็นอะไรที่มีผลกระทบต่อคุณล่ะก็ C-HR คงเป็นคำตอบที่ถูกต้องที่สุด

แล้วถ้าไม่เกี่ยงเรื่องน้ำมันล่ะ?

โดยรวมแล้ว พวกมันคือรถ Crossover ที่ยอดเยี่ยมทั้งคู่… C-HR โดดเด่นในเรื่องของดีไซน์สุดล้ำ ทั้งตัวถังและห้องโดยสาร หากเกือบทั้งหมดของคุณอยู่ในเมืองเป็นหลัก นี่คือรถที่พอดีกับคุณ มอเตอร์ไฟฟ้าของมันสามารถใช้งานได้เป็นเวลานานต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง นั่นหมายถึงการลดมลพิษที่เกิดขึ้นอย่างสูญเปล่าจากการจอดนิ่งอยู่กับที่ได้มากกว่า ความนุ่มนวลของช่วงล่างบวกกับเกียร์แบบ CVT  คือข้อได้เปรียบที่ชัดเจนเมื่อต้องขับขี่ในเมือง

แต่ถ้าคุณโฟกัสไปที่ความสนุกในการขับขี่ หรือใช้งานนอกเมืองบ่อย ๆ Crossover จาก Mazda คือตัวเลือกที่น่าสนใจ หากจินตนาการว่าบนโลกนี้ไม่เคยมี C-HR มาก่อน… CX-3 ถือเป็นรถที่สามารถใช้งานในเมืองได้ดีเช่นกัน การใช้แพลตฟอร์มจาก Mazda2 หมายถึงมันเป็นรถแบบ Supermini ที่คล่องแคล่วกระฉับกระเฉง แต่การมุ่งเน้นไปที่ Handling ตัดคะแนนความสะดวกสบายของตัวมันเองออกไปอย่างน่าเสียดาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อ Toyota ส่ง C-HR ที่นุ่มนวลกว่าเข้ามาร่วมศึก Crossover อันร้อนระอุนี้

ทว่า CX-3 จะเฉิดฉายกว่าเมื่อมันเริ่มทำความเร็ว แม้จะสูสีกันในเรื่องการบังคับควบคุม แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า Crossover จาก Mazda ให้สัมผัสที่ดีกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับระบบบังคับเลี้ยวที่สื่อสารมาสู่มือคุณได้อย่างชัดเจน และสามารถเรียก Engine Brake มาใช้ได้จากการชิฟต์เกียร์ด้วย Paddle บนพวงมาลัย ในขณะที่เกียร์แบบ CVT ของ C-HR ทำให้เครื่องยนต์ร้องระงมคาอยู่ที่รอบสูงเพื่อรอให้ความเร็วเพิ่มขึ้น และพวงมาลัยของมันก็ตอบสนองคลุมเครือคล้ายกับคุณกำลังเล่นเกม PlayStation แม้จะมีช่วงล่างเกาะหนึบแต่ก็ไม่อาจ “บิลท์” อารมณ์คุณให้สนุกกับมันได้เท่ากับ CX-3

ที่น่าสนใจก็คือ ขณะนี้ Mazda ส่ง CX-3 เวอร์ชั่นปรับปรุงใหม่ของปี 2018 ลงสู่ตลาดแล้ว (คันทดสอบของเราเป็นปี 2017) มันได้รับการปรับปรุงหลายอย่าง เพิ่มอุปกรณ์อำนวยความสะดวก และที่สำคัญก็คือ การปรับช่วงล่างให้นุ่มนวลขึ้น ซึ่งแน่นอนว่า นี่คือความพยายามที่จะเข้าปะทะ C-HR อีกครั้งของ Mazda

เรายังไม่มีโอกาสได้ลองขับ CX-3 รุ่นปี 2018 แต่ก็คาดหวังว่ามันจะมีสมรรถนะพอจะเทียบเคียงกับ C-HR สำหรับการขับขี่ในเมืองได้ และหวังลึก ๆ ว่า การเปลี่ยนแปลงนี้จะไม่ทำลายความสนุกในการขับขี่อันเป็นเอกลักษณ์สำคัญของ CX-3 ไป เพราะถ้าเป็นเช่นนั้น หัวใจของเราคงแหลกสลายเช่นกัน…

Check Also

Honda City Hatchback 2024 TURBO RS

รีวิว ลองขับ Honda City Hatchback 2024 TURBO RS เสริมความสปอร์ต เน้นความประหยัดสำหรับ Hot Hatch ตัวจริง

รีวิว ลองขับ Honda City Hatchback TURBO RS เครื่องยนต์เบนซิน 1.0 ลิตร DOHC VTEC TURBO ให้กำลัง 122 …